หน้าใหม่

 
แหล่งที่มา : www.thansettakij.com วันที่โพสต์ :  19 ก.พ. 2561
       
ชิงเค้ก! 'ศูนย์ซ่อม-ชิ้นส่วน' 2 ล้านล้าน
นายกฯ ไฟเขียว! ตั้งบอร์ดคัดเลือก 
เดินเครื่องปักหมุด! ไทยฮับผลิตชิ้นส่วนอากาศยานและศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศ ... นายกฯ ไฟเขียว! ตั้งคณะกรรมคัดเลือกเอกชนลงทุนศูนย์ซ่อมอากาศยานอู่ตะเภา คู่ขนานการบินไทย-แอร์บัส ที่เตรียมลงนามหลักการร่วมลงทุน มี.ค. นี้ ด้าน บริษัทผลิตชิ้นส่วนจากต่างประเทศแห่ลงทุน    
    
จากการที่รัฐบาลมียุทธศาสตร์โมเดล ‘ประเทศไทย 4.0’ กำหนดให้อุตสาหกรรมการบินเป็น 1 ในอุตสาหกรรมแห่งอนาคต (New S-Curve) และมีนโยบายที่จะผลักดันให้ไทยเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมการผลิตชิ้นส่วนอากาศยาน (OEM) และการซ่อมบำรุงอากาศยาน (MRO) ในภูมิภาคนี้ ล่าสุด จะเริ่มเห็นการเดินหน้าผลักดันให้เกิดการลงทุนแล้ว

โดยล่าสุด คณะกรรมการนโยบายการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (กนศ.) ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ได้มีมติแต่งตั้งคณะกรรมการดำเนินการคัดเลือกเอกชนเข้ามาร่วมลงทุนในโครงการศูนย์อากาศยานใหม่ในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (อีอีซี) โดยมีปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมเป็นประธาน รวมถึงหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง คือ ผู้แทนจากกระทรวงคมนาคม กองทัพเรือ รวม 9 คน เพื่อเป็นไปตามนโยบาย PPP
การทำงานของคณะกรรมการชุดดังกล่าว จะเดินคู่ขนานไปกับการเตรียมการลงทุนของ ‘การบินไทย’ และ ‘แอร์บัส’ ในการลงทุนศูนย์ซ่อมอากาศยานที่สนามบินอู่ตะเภา ซึ่งล่าสุด ทั้งการบินไทยและแอร์บัสมีข้อตกลงกันเบื้องต้น หลังจากลงนามในสัญญาความร่วมมือ เพื่อประเมินโอกาสทางธุรกิจของโครงการดังกล่าว

(CA : Cooperation Agreement) 
โดยตกลงว่า การบินไทยและแอร์บัสจะมีการลงนามร่วมทุนในหลักการ (JV Contact) ได้ภายในเดือน มี.ค. นี้ เพื่อเป็นเครื่องยืนยันกับทางรัฐบาลไทย ว่า แอร์บัสจะร่วมลงทุนกับการบินไทยแน่นอน ตามไทม์ไลน์ที่ ‘สมคิด จาตุศรีพิทักษ์’ รองนายกรัฐมนตรี ที่อยากจะเร่งผลักดันให้เกิดการร่วมลงทุนภายในไตรมาสแรกของปีนี้

รวมทั้ง ‘การบินไทย’ ก็เตรียมจะนำเสนอโครงการร่วมทุนนี้ให้ทางคณะกรรมการดำเนินการคัดเลือกเอกชนเข้ามาร่วมลงทุนในโครงการศูนย์อากาศยานในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (อีอีซี) พิจารณาต่อไป ลงทุนในสัดส่วน 50:50 ขณะที่ เงินลงทุนในโครงการดังกล่าวก็จะอยู่ที่ราว 1.03 หมื่นล้านบาท เบื้องต้น รัฐบาลโดยกองทัพเรือ (ทร.) จะลงทุนสิ่งปลูกสร้างและงานโยธา เช่น อาคาร ถนน น้ำ มูลค่าการลงทุนราว 6.3 พันล้านบาท เอกชนลงทุนงานระบบเครื่องจักรและอุปกรณ์ 3.9 พันล้านบาท

โดยตามแผนคาดว่า จะใช้เวลา 5 ปี ในการดำเนินการ หรือ น่าจะเปิดให้บริการได้ในปี 2564 หรือ 2565 โดยจะดำเนินการใน 7 กิจกรรม คือ

1.การซ่อมใหญ่อากาศยาน (Heavy Maintenance) การซ่อมบำรุงอากาศยานระดับลานจอด (Line Maintenance) และการพ่นสีอากาศยาน

2.การจัดตั้งศูนย์ฝึกอบรมช่างซ่อมบำรุงอากาศยานอู่ตะเภา โดยจะประสานงานกับหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้อง รวมถึงสถาบันการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย

3.การจัดตั้งโรงซ่อมชิ้นส่วนวัสดุอากาศยานแบบผสม หรือ Aircraft Composite Repair Shop

4.การนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาใช้ในการซ่อมบำรุงอากาศยาน เพื่อให้เป็นโรงซ่อมอากาศยานอัจฉริยะ (Smart Hanger)

5.การจัดตั้งคลังอะไหล่และศูนย์โลจิสติกส์ เพื่อสนับสนุนการซ่อมบำรุงอากาศยาน

6.การออกแบบและก่อสร้างอาคารและศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยานให้เหมาะสม

7.การจัดตั้งโรงซ่อมบริภัณฑ์ เพื่อสนับสนุนการซ่อมบำรุงอากาศยานระดับลานจอด


สำหรับความเคลื่อนไหวของการผลิตชิ้นส่วนอากาศยาน (OEM) ก็เริ่มเห็นการขยายการลงทุนของผู้ประกอบการเพิ่มขึ้น ล่าสุด บริษัท จินป่าว พรีซิชั่นอินดัสทรี่ จำกัด ในเครือบริษัท เจพีพี โฮลดิ้ง จำกัด ของไต้หวัน ได้เซ็นสัญญาซื้อที่ดิน 54 ไร่ ในนิคมอุตสาหกรรมเหมราชอีสเทิร์นซีบอร์ด 2 เพื่อเตรียมสร้างโรงงานที่เน้นการผลิตชิ้นส่วนโลหะแผ่นสำหรับอากาศยานให้แก่ ‘แอร์บัส โบอิ้ง ฟัลคอน’ และ ‘กัลฟ์สตรีม’ เพิ่มเติมจากโรงงาน 2 แห่งเดิม ที่ตั้งอยู่ในนิคมอุตสาหกรรมบางปู คาดว่าจะเปิดให้บริการในอีก 2 ปีจากนี้ รวมทั้งผู้ประกอบการที่ลงทุนอยู่แล้ว ก็มีแผนขยายการลงทุนเพิ่ม เช่น ซีเนียร์ แอโรสเปซ ที่ปัจจุบันผลิตชิ้นส่วนปีกเครื่องบินให้กับทาง ‘โรลส์-รอยซ์’ ที่นิคมอุตสาหกรรมปิ่นทอง

นายจุฬา สุขมานพ ผู้อำนวยการสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า การผลักดันให้ไทยเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมการผลิตชิ้นส่วนอากาศยานและการซ่อมบำรุงอากาศยาน ปัจจุบัน มีเอกชนจากต่างประเทศหลายรายสนใจเข้ามาตั้งสำนักงานและลงทุนในไทย พร้อมคาดว่า ในระยะเวลา 20 ปีข้างหน้า ไทยจะมีรายได้จากธุรกิจดังกล่าวไม่ต่ำกว่า 2 ล้านล้านบาท (ตารางประกอบ)

เมื่อพิจารณาการผลิตชิ้นส่วนอากาศยาน พบว่า ผู้ผลิตชิ้นส่วนอากาศยาน (OEM) ในไทย มีความเชี่ยวชาญด้านการผลิตในขั้นที่ 3 (Tier 3) เช่น ชุดฐานล้อ (แลนดิ้งเกียร์), ล้อและชุดเบรก (Wheels & Brakes), การผลิตวัสดุคอมโพสิต และขั้นที่ 4 (Tier 4) เช่น ยางเครื่องบิน, คาร์บอนไฟเบอร์ สำหรับผลิตปีกเครื่องบิน วัสดุตั้งต้นต่าง ๆ เป็นต้น ซึ่งไทยยังมีโอกาสอีกมากที่จะพัฒนาในอุตสาหกรรมนี้ เนื่องจากผู้ผลิตระดับนี้เน้นบริหารต้นทุน ทำให้ผู้ผลิตระดับนี้พร้อมจะย้ายฐานการผลิตมาสู่ประเทศที่มีต้นทุนการผลิตต่ำ นอกจากนี้ บริษัทผู้ผลิตในขั้นที่ 2 (Tier 2) ซึ่งเป็นการผลิตชิ้นส่วนอากาศยานขั้นสูงในลักษณะ (Design & Build) ก็ยังมองว่า ไทยเป็นจุดหมายปลายทางที่น่าสนใจในการจ้างผลิต
   
ขอบคุณข่าวจาก : thansettakij.com
 
Visitors: 619,078