หน้าใหม่

 
แหล่งที่มา : www.thansettakij.com วันที่โพสต์ :  21 ก.พ. 2561
       
 ส่งออกเดือน ม.ค. 61 ขยายตัวสูงสุดรอบ 5 ปีที่ 17.6%
ส่งออกเดือนม.ค.61 ขยายตัวสูงสุดรอบ 5 ปีที่ 17.6% สินค้าขยายตัวดีทุกตลาดคาดไตรมาสแรกโต 8% ทั้งปีตามเป้า

นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวถึงการส่งออกของไทยในเดือนมกราคม 2561 ว่า ขยายตัวสูงสุดในรอบ 62 เดือน หรือ 5 ปี ที่ 17.6% หรือคิดเป็นมูลค่า 20,101 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยการส่งออกขยายตัวได้ดีในทุกตลาดสำคัญ โดยเฉพาะตลาดเอเชียใต้ ญี่ปุ่น และตลาด CLMV มีการขยายตัวในระดับสูง สำหรับการส่งออกรายสินค้ามีการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง 
   
โดยกลุ่มสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรขยายตัวในระดับสูงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 15 ขยายตัว 16.2% โดยสินค้าส่งออกที่ขยายตัวดี ได้แก่ ข้าว ขยายตัว 37.2% ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง ขยายตัว 42.3% น้ำตาลทราย กลับมาขยายตัวที่ 42.2% ไก่สดแช่แข็งและแปรรูป ขยายตัว 18.4 % อาหารทะเลแช่แข็ง กระป๋องและแปรรูป ขยายตัว 20.4 % แต่สินค้าสำคัญที่หดตัว ได้แก่ ยางพารา หดตัว 20.7% โดยมีสาเหตุหลักมาจากปัจจัยทางด้านราคา และผลไม้กระป๋องและแปรรูป หดตัว 7.3%
สำหรับกลุ่มสินค้าอุตสาหกรรมขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 11 ที่ร้อยละ 17.2% โดยสินค้าสำคัญที่ขยายตัว ได้แก่ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ขยายตัว 18.2% เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ขยายตัว 21.5% เครื่องยนต์และส่วนประกอบ ขยายตัว 87.9 % เคมีภัณฑ์ ขยายตัว 40.5% สินค้าอุตสาหกรรมสำคัญที่หดตัว ได้แก่ ทองคำ ยังคงหดตัว 21.3 %
ทั้งนี้แนวโน้มการส่งออกไทยในไตรมาสแรกของปีนี้ คาดว่าจะปรับตัวดีขึ้นคาดว่าจะขยายตัวที่ 8% โดยสินค้าสำคัญที่คาดว่าจะมีการส่งออกเพิ่มขึ้น ได้แก่ คอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ แผงวงจรไฟฟ้า รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เม็ดพลาสติก เคมีภัณฑ์ ผลิตภัณฑ์ยาง อัญมณีและเครื่องประดับ
ขณะที่ตลาดส่งออกสำคัญก็ขยายตัวทุกตลาด โดยการส่งออกไปยังตลาดหลักขยายตัว 15.1% ตามการฟื้นตัวต่อเนื่องของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้า โดยการส่งออกไป สหรัฐฯ ขยายตัว 11.3% ญี่ปุ่น 26.3 % และสหภาพยุโรป 8.9 % ขณะที่การส่งออกไปตลาดศักยภาพสูงยังขยายตัวได้ดีต่อเนื่องที่ 15.1% โดยมีสาเหตุสำคัญจากการขยายตัวสูงอย่างต่อเนื่องของจีน 11.6% CLMV ขยายตัว 18.4 % และเอเชียใต้ขยายตัว 26.1% และการส่งออกอาเซียน ขยายตัว 14.3% ด้านตลาดศักยภาพระดับรองฟื้นตัวในเกณฑ์สูงที่ 18.9% เนื่องจากการส่งออกไปทวีปออสเตรเลียขยายตัว 18.7 % ตะวันออกกลาง 11.0 % แอฟริกา 37.0 % และกลุ่มประเทศ CIS 72.0 %
“แม้ว่าหลายฝ่ายจะวิตกว่าปัญหาค่าเงินบาทที่แข็งค่าจะกระทบต่อการส่งออกแต่กลับพบว่าในเดือนแรกของปีการส่งออกของไทยยังเป็นบวก แสดงว่าค่าเงินบาทไม่ได้มีผลด้านลบต่อต่อการส่งออกไทย และค่าเงินบาทที่แข็งค่านั้นมาจากการที่สหรัฐฯ ทำให้ค่าเงินดอลลาร์อ่อนค่าส่งผลให้ประเทศอื่นในภูมิภาคแข็งค่าเป็นไปในทิศทางเดียวกับไทย จึงมั่นใจว่าในปีนี้การส่งออกจะขยายตัวได้ 8% ตามเป้าหมาย ภายใต้สมมติฐานค่าเงินบาทเฉลี่ย 32--34 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ และราคาน้ำมันดิบอยู่ที่ 55-65 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาเรลล์ โดยจะสามารถผลักดันให้ มีมูลค่าการส่งออกได้เดือนละไม่ต่ำกว่า 21,412 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยจะเน้นการพัฒนาเพิ่มมูลค่าการส่งออกสินค้าใหม่ๆ รวมถึงสินค้าบริการ ตลอดจนผลักดัน เอสเอ็มอีให้มีการส่งออกมากขึ้น” นายสนธิรัตน์ กล่าว
ขณะที่การนำเข้า มีมูลค่ากว่า 20,220 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ขยายตัว 24.3% จากการนำเข้าสินค้าเชื้อเพลิง รวมถึงสินค้าทุน และวัตถุดิบ ที่เพิ่มขึ้น ซึ่งถือเป็นสิ่งที่ดี ในช่วงภาวะเงินบาทแข็งค่าเป็นการใช้ประโยชน์จากค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นของผู้ประกอบการ ทำให้ดุลการค้า เดือนม.ค.ขาดดุล 119.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
   
ขอบคุณข่าวจาก : thansettakij.com
 
Visitors: 620,121