หน้าใหม่

 
แหล่งที่มา : www.mgronline.com วันที่โพสต์ :  19 ก.พ. 2561
       
 ร.ฟ.ท.กางแผนรับเพิ่ม 5,600 คนใน 5 ปีรับทางคู่ เปิดกว้างคัดเลือก
รองผู้ว่าฯ ซ่อมบำรุง-บริหารรถไฟฟ้า

ร.ฟ.ท.เตรียมความพร้อมองค์กร วางแผนเพิ่มกำลังคนรวม 5,637 อัตราภายใน 5 ปีรองรับรถไฟทางคู่ หวั่นวิกฤตเสี่ยงลดเที่ยววิ่ง เปิดคัดสรรชิงเก้าอี้รองผู้ว่าฯ ด้านซ่อมบำรุงและบริหารรถไฟฟ้า ตั้งสเปกโปร่งใสป้องกันร้องเรียน “อานนท์” เผยเร่งตั้ง 2 บริษัทลูกด้านทรัพย์สินและเดินรถสีแดงในปีนี้

นายอานนท์ เหลืองบริบูรณ์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงคมนาคม รักษาการผู้ว่าการ การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ ร.ฟ.ท.อยู่ระหว่างการคัดเลือกรองผู้ว่าการ 2 ตำแหน่ง คือ
1. รองผู้ว่าการกลุ่มธุรกิจการซ่อมบำรุงรถจักรและล้อเลื่อน และ
2. รองผู้ว่าการกลุ่มบริหารรถไฟฟ้า เพื่อทดแทนผู้ที่เกษีษณอายุ

ซึ่งคณะกรรมการพิจารณาคัดเลือกพนักงานเพื่อแต่งตั้งเลื่อนระดับได้เปิดรับสมัครคัดเลือกตำแหน่งรองผู้ว่าการ (นักบริหาร 14) จำนวน 2 ตำแหน่ง เมื่อวันที่ 29 ม.ค.-6 ก.พ. 2561 ปรากกว่ามีผู้สมัครรวม 8 คน ซึ่งจะมีการสัมภาษณ์และแสดงวิสัยทัศน์ในวันที่ 28 ก.พ. 2561 จากนั้นจะสรุปผลเสนอคณะกรรมการ (บอร์ด) ร.ฟ.ท.ต่อไป  
รายงานข่าวแจ้งว่า

มีผู้สมัครในตำแหน่งรองผู้ว่าการกลุ่มธุรกิจการซ่อมบำรุงรถจักรและล้อเลื่อน 5 คน ได้แก่
1. นายศิริพงศ์ พฤทธิพันธุ์ ผู้อำนวยการฝ่ายบริหารโครงการพัฒนาที่ดิน
2. นายสุชีพ สุขสว่าง วิศวกรใหญ่ฝ่ายก่อสร้าง
3. นายจุลพงษ์ จุฬานนท์ ผู้ช่วยผู้ว่าการฯ
4. นายวัชรชาญ สิริสุวรรณทัศน์ วิศวกรใหญ่ฝ่ายช่างกล
5. นายไพบูลย์ สุจิรังกุล วิศวกรใหญ่ฝ่ายการช่างโยธา


ตำแหน่งรองผู้ว่าการกลุ่มบริหารรถไฟฟ้ามีผู้สมัคร 6 คน ได้แก่
1. นายศิริพงศ์ พฤทธิพันธุ์ ผู้อำนวยการฝ่ายบริหารโครงการพัฒนาที่ดิน
2. นายสุชีพ สุขสว่าง วิศวกรใหญ่ฝ่ายก่อสร้าง
3. นายอวิรุทธ์ ทองเนตร ผู้อำนวยการฝ่ายกองการพัสดุ
4. นายสิทธิชัย บุญเสริมสุข วิศวกรใหญ่ฝ่ายการอาณัติสัญญาณและโทรคมนาคม
5. นายสุจิตต์ เชาว์ศิริกุล ผู้อำนวยการฝ่ายบริการสินค้า และ
6. นายไพบูลย์ สุจิรังกุล วิศวกรใหญ่ฝ่ายการช่างโยธา


นายอานนท์ กล่าวว่า ร.ฟ.ท.จะต้องเตรียมความพร้อมองค์กร และพนักงานเพื่อรองรับการพัฒนาบริการ และรองรับเส้นทางรถไฟทางคู่ระยะที่ 1 และ 2 ในอนาคต โดยจากการศึกษากรอบอัตรากำลังช่วงปี 2558-2568 จำนวน 19,241 คน เป็นพนักงาน 16,660 คน ลูกจ้าง 2,581 คน โดยมีแผนรับพนักงานรวม 5,637 อัตราภายใน 5 ปี จะมีทั้งการรับพนักงานใหม่ และปรับในส่วนของลูกจ้างเป็นพนักงาน โดยการจ้างพนักงานเพิ่มดังกล่าวจะส่งผลให้มีเงินเดือนสูงขึ้น 682.51 ล้านบาท แต่มีค่าใช้จ่ายค่าทำงานล่วงเวลาลดลง 521.62 ล้านบาทต่อปี 

ปัจจุบัน ร.ฟ.ท.ยังมีอัตรากำลัง 14,175 คน ไม่เพียงพอต่อการทำงาน โดยมติ ครม.เมื่อวันที่ 28 ก.ค. 2541 จำกัดการรับพนักงานเพิ่มได้ 5% ของพนักงานเกษียณอายุ ซึ่งจะต้องทำแผนเพื่อขอทบทวนมติ ครม.ต่อไป เพราะหากไม่สามารถเพิ่มอัตรากำลังได้ตามแผนอาจทำให้ต้องลดจำนวนรถโดยสารจาก 234 ขบวน และขบวนรถสินค้า 60 ขบวนต่อวันลง ซึ่งจะทำให้สูญเสียโอกาสในการทำธุรกิจ

นอกจากนี้จะเร่งการตั้งบริษัทลูกบริหารทรัพย์สิน จะดำเนินการจดทะเบียนในเดือน มี.ค. และในเดือน ก.ย. จะเริ่มทยอยส่งมอบทรัพย์สินไปยังบริษัทลูกด้านทรัพย์สิน ส่วนบริษัทลูกเดินรถสายสีแดง จะเร่งจ้างที่ปรึกษาศึกษาแนวทางในการอัปเกรดจาก บริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. จำกัด (แอร์พอร์ตเรลลิงก์) ในปัจจุบันมาบริหารสายสีแดง โดยเพิ่มทุนจดทะเบียนเป็น 3,000 ล้านบาท และเปลี่ยนวัตถุประสงค์ให้สอดคล้องกับการเดินรถสีแดง ซึ่งอย่างช้าจะจัดตั้งได้ไม่เกินต้นปี 2562 เพื่อเตรียมพร้อมคนและสต๊อกอะไหล่สำหรับเปิดเดินรถสายสีแดงในปี 2563
   
ขอบคุณข่าวจาก : mgronline.com
 
Visitors: 615,612