หน้าใหม่

 
แหล่งที่มา : www.thansettakij.com วันที่โพสต์ :  10 ก.พ. 2561
       
ท่าเรือน้ำลึกสงขลาแห่งที่ 2 ปั้นไทยเป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจ
ระดับภูมิภาค 
กรมเจ้าท่าได้ว่าจ้างศึกษาทบทวนและสำรวจออกแบบรายละเอียดพร้อมกับรับฟังความคิดเห็นของประชาชนมาอย่างต่อเนื่อง แม้จะหนีบเอาตำรวจและทหารเข้าพื้นที่ไปชี้แจงประชาชนในพื้นที่แต่ก็ยังคงได้รับการต่อต้านทุกครั้งจนส่งผลให้งบประมาณดำเนินโครงการดังกล่าวจากช่วงแรกค่าก่อสร้างเป็นหลักพันล้านบาท ล่าสุดบานแล้วกว่า 1.5 หมื่นล้านบาท ซึ่งหากได้รับการอนุมัติก่อสร้างในปี 2562 คาดว่างบประมาณน่าจะเพิ่มเป็นเกือบ 2 หมื่นล้านบาท

โครงการท่าเรือนํ้าลึกสงขลาแห่งที่ 2 นับเป็นการพัฒนาระบบการคมนาคมขนส่งทางเรือเพื่อเสริมสร้างศักยภาพด้านการแข่งขันและการพัฒนาระบบเศรษฐกิจของประเทศเนื่องจากประเทศไทยมีความได้เปรียบในการที่จะพัฒนาให้เป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจที่สำคัญในระดับภูมิภาค
 
โดยท่าเรือนํ้าลึกสงขลาแห่งที่ 2 จัดให้เป็นท่าเรือหลักและเป็นท่าเรือระหว่างประเทศให้สามารถรองรับเรือขนาด 9,000-2 หมื่นเดตเวตตันสามารถรองรับตู้สินค้าคอนเทนเนอร์ได้ 1.4 แสนตู้ต่อปี

เริ่มดำเนินการศึกษามาตั้งแต่ปี 2540 จัดเป็นการพัฒนาท่าเรือนํ้าลึกชายฝั่งทะเลอ่าวไทยตอนล่างและเพิ่มขีดความสามารถของท่าเรือนํ้าลึกชายฝั่งทะเลอ่าวไทยตอนล่างของประเทศให้สามารถรองรับความต้องการในการขนส่งสินค้า เรือขนส่งสามารถจอดเทียบท่าได้อย่างรวดเร็ว ประหยัดเวลา สะดวก ปลอดภัยและยังเชื่อมโยงการขนส่งในประเทศและระหว่างประเทศ รวมถึงการเชื่อมโยงเส้นทางการขนส่งสินค้าไปยังกลุ่มประเทศคู่ค้าสำคัญ

ทั้งนี้ตามผลการศึกษาในปี 2560 สรุปว่าพื้นที่บริเวณตำบลนาทับ อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา มีความเหมาะสมที่จะพัฒนาเป็นท่าเรือนํ้าลึกสงขลาแห่งที่ 2 โดยแบ่งการก่อสร้างออกเป็น 2 ระยะ มูลค่าการก่อสร้างรวมทั้งสิ้นประมาณ 1.5 หมื่นล้านบาท โดยใช้งบประมาณดำเนินการศึกษาทบทวน สำรวจออกแบบ และศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ(อีเอชไอเอ) วงเงิน 69 ล้านบาท

แม้ขณะนี้จะมีกลุ่มเอ็นจีโอกลุ่มรักทะเลออกมาต่อต้านโครงการแต่กรมเจ้าท่าก็ยังเร่งผลักดันตามแผนต่อไปโดยได้ชี้แจงข้อเท็จจริงให้กับชาวหมู่บ้านสวนกงที่ได้รับผลกระทบและได้รับการตอบรับที่ดีเข้าใจ 80% ต่อการเร่งผลักดันของรัฐบาล

ล่าสุดอยู่ระหว่างการเจาะตรวจสอบชั้นดินเนื่องจากช่วงมรสุมจะทำงานได้ลำบาก ประกอบกับโครงการนี้มีความจำเป็นต้องพัฒนาเพื่อยกระดับการแข่งขันทางเศรษฐกิจของประเทศ อีกประการหนึ่งเพื่อลดความแออัดในการเดินทางด้วยรถบรรทุกที่ด่านสะเดาเพื่อหันมาใช้การขนส่งทางเรือผ่านเส้นทางนี้โดยจะก่อสร้างท่าเรือยื่นเข้าไปในทะเลประมาณ 300 เมตร มีตัวท่าเรือยื่นเป็นสะพานออกไปในทะเลยาวประมาณ 500 เมตรความกว้างประมาณ 100 เมตร ก่อสร้างรูปแบบตอกเข็ม ไม่มีการถมทะเลแต่อย่างใด

ทั้งนี้เมื่อกลุ่มบริษัทที่ปรึกษาดำเนินการเจาะสำรวจดินแล้วเสร็จจะเร่งออกแบบตัวอาคาร พร้อมกับเร่งวิเคราะห์ทางเศรษฐศาสตร์อีกครั้งเบื้องต้นนั้นพบว่ามีความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจประมาณ12% พร้อมกับเร่งสรุปผลการศึกษานำเสนอกรมเจ้าท่าเร่งผลักดันให้แล้วเสร็จภายในปีนี้หลังจากนั้นเร่งเสนอกระทรวงคมนาคมนำเสนอรัฐบาลพิจารณาโครงการในปี 2562 ต่อไป
   
ขอบคุณข่าวจาก : thansettakij.com
 
Visitors: 626,432