หน้าใหม่

 
แหล่งที่มา : www.thansettakij.com วันที่โพสต์ :  10 ก.พ. 2561
       
 ปัญหาขยะจากซากแผงโซลาร์เซลล์
หลังจากพลังงานสะอาดจากแผงโซลาร์เซลล์ เป็นที่รู้จักและถูกนำมาใช้มากขึ้น ได้เกิดผลดีทั้งในแง่ของการลดการใช้พลังงาน และการประหยัดต้นทุนในการใช้ไฟฟ้าได้ แต่แผงโซลาร์เซลล์มีอายุการใช้งานประมาณ 25 ปี โดยแผงโซลาร์เซลล์ มีทั้งส่วนที่ไม่เป็นอันตราย และส่วนที่เป็นโลหะหนักที่จะส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่ง “สมชัย รัตนธรรมพันธ์” อาจารย์ภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้า จุฬาฯ ได้ระบุว่า ขยะโซลาร์เซลล์มีปัญหาเช่นเดียวกับขยะอิเล็กทรอนิกส์อื่นๆ ที่ทำให้เกิดปัญหาทั้งสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ หากกำจัดโดยการเผา ก็ต้องสูญเสียทั้งพลังงานและงบประมาณ และยังสร้างสารคาร์บอนไดออกไซด์และไดออกซิน หากนำไปฝังกลบก็จะเกิดการแพร่กระจายของโลหะหนัก ทั้งตะกั่วและแคดเมียมตามดินและแหล่งนํ้าธรรมชาติ จนอาจเกิดวิกฤติสูญเสียแหล่งอาหารและนํ้าในอนาคต
 
ตัวเลขจากกรมโรงงานอุตสาหกรรม ปี 2559 พบว่าการติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ของภาคเอกชนแบบลานกว้างเพื่อขายไฟฟ้าเข้าระบบมีประมาณ 2,000 เมกะวัตต์ และประชาชนมีความสนใจติดตั้งบนหลังคาบ้านเพิ่มขึ้น จากราคาแผงที่เริ่มปรับลดลง

นอกจากนี้ รัฐบาลยังมีนโยบายส่งเสริมให้ทุกภาคส่วนราชการ ให้ติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์เพื่อลดภาระค่าไฟฟ้า และยังมีนโยบายส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ (โซลาร์เซลล์) จำนวน 6,000 เมกะวัตต์ ในปี 2579 ทำให้มีการประเมินว่า ปริมาณซากแผงโซลาร์เซลล์ สะสมตั้งแต่ปี 2545-2559 อยู่ที่ 388,347 ตัน หรือคิดเป็น 12.9 ล้านแผง และปริมาณซากสะสมถึงปี 2563 อยู่ที่ 551,684 ตัน หรือ 18.38 ล้านแผง ที่ต้องกำจัด

อย่างไรก็ตาม แผงโซลาร์เซลล์ มีแร่ต่างๆ ที่สามารถสกัดนำมารีไซเคิลสร้างมูลค่าได้ ทั้งซิลิคอนและเงิน แต่การลงทุนรีไซเคิล หากปริมาณขยะไม่มากพอ ก็อาจจะไม่คุ้มทุน  
    
จากกรณีศึกษาจากประเทศในยุโรปและญี่ปุ่น พบว่าให้ความสําคัญกับการกําจัดของเสียเหล่านี้และออกกฎหมายควบคุมดูแลอย่างชัดเจน เพื่อลดการปนเปื้อนในสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะการเพิ่มคุณภาพและการสกัดโลหะหายากในของเสียเหล่านี้ และป้อนกลับสู่อุตสาหกรรมอีกครั้ง ทําให้วัตถุดิบมีราคาที่เสถียรภาพ และมีปริมาณที่เพียงพอ โดยถือว่าเป็นเรื่องที่มีความสําคัญต่อความมั่นคงของประเทศ (National Security)

ขณะนี้ กรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) ได้จัดทำแผนแม่บทการจัดการซากผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์:เซลล์แสงอาทิตย์(โซลาร์เซลล์) เพื่อกำหนดแนวทางการจัดการซากแผงโซลาร์เซลล์ ที่หมดอายุ ซึ่งปัจจุบันวิธีทำลาย ยังคงใช้วิธีฝังกลบดีที่สุด เพราะยังไม่มีทางเลือกอื่น แม้ว่าการนำมารีไซเคิลจะเป็นวิธีที่ดีกว่า แต่ยังไม่คุ้มค่ากับการลงทุน จนกว่าจะเห็นว่ามีแผงโซลาร์เซลล์หมดอายุที่มากพอ
    
ขั้นตอนในการบริหารจัดการแผงหมดอายุ มีขอบข่ายที่ครอบคลุมกว้างขวาง โดยจะเริ่มตั้งแต่การผลิตแผง การขนส่งและติดตั้ง การใช้งาน การเก็บรวบรวม การรีไซเคิล และการกําจัด ดังนั้น จึงมีความเกี่ยวข้องกับภาคส่วนต่างๆ จํานวนมาก เริ่มต้นจากหน่วยงานภาครัฐที่มีหน้าที่กํากับดูแล ได้แก่ สํานักงานคณะกรรมการกํากับกิจการพลังงาน กรมโรงงานอุตสาหกรรม กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ กรมควบคุมมลพิษ จนถึงภาคเอกชน ไม่ว่าจะเป็นผู้ผลิต ผู้ติดตั้ง เจ้าของโรงงาน ผู้รวบรวมหรือคัดแยก ผู้รีไซเคิล ที่จําเป็นจะต้องมีข้อหารือร่วมกัน อาทิ ปริมาณของเสียในปัจจุบันและการจัดการของเจ้าของแผง ผู้รวบรวมควรจะเป็นใครระหว่างผู้ผลิต ผู้ขาย หรือร้านขายของเก่า ผู้รีไซเคิลสามารถใช้หรือสกัดได้เองในประเทศ หรือส่งออกได้หรือไม่และภาครัฐจะทําอย่างไรเพื่อส่งเสริมให้เกิดการรีไซเคิลสูงสุด

ล่าสุด มีเอกชนยื่นขอใบประกอบกิจการโรงงานรีไซเคิลขยะจากโซลาร์เซลล์จากกรอ.แล้ว และคาดว่าจะสรุปความชัดเจนต้นปี 2561 หลังจากนั้นจะเริ่มก่อสร้างกลางปี 2561

นอกจากปัญหาขยะจากแผงโซลาร์เซลล์แล้ว อีกหนึ่งปัญหาที่ต้องเตรียมการ คือ แบตเตอรี่สำรอง ที่กำลังจะเป็นอีกหนึ่งสิ่งที่จะมีปริมาณการผลิตและใช้เพิ่มขึ้น หากเกิดขึ้นในอนาคตมากๆ สิ่งนี้ ก็อาจจะเป็นปัญหา ไม่ต่างจากแผงโซลาร์เซลล์
   
ขอบคุณข่าวจาก : thansettakij.com
 
Visitors: 621,994