หน้าใหม่

 
แหล่งที่มา : www.thansettakij.com วันที่โพสต์ :  7 ก.พ. 2561
       
อสังหาฯเล็กปรับตัวสู้ กูรูแนะต้องโฟกัสโปรดักต์ที่ถนัด-หาแหล่งทุนใหม่ 

อสังหาฯรายกลาง-เล็ก ดิ้นปรับตัวสู้รับตลาดฟื้นระดมตั้งบริษัทปล่อยเงินกู้-หาแหล่งทุนใหม่-หาผู้ร่วมทุน หลังแบงก์ยังเข้ม สินเชื่อ ยอดขายต้อง 50% ขึ้นไปถึงไฟเขียว

สัญญาณการฟื้นตัวของธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ เกิดขึ้นตั้งแต่ช่วงกลางปี 2560 เป็นต้นมา แต่สถาบันการเงิน ยังระมัด ระวังการปล่อยสินเชื่ออย่างเข้มข้นเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้หรือเอ็นพีแอล ซํ้ารอยวิกฤติปี 2540 ตามมา โดยเฉพาะบริษัทพัฒนาที่ดินรายกลางรายเล็กทั้งหน้าใหม่หน้าเก่าที่อาจกระโจนเข้าสู้สนามแข่งขันนี้อีกครั้ง

นายอิสระ บุญยัง
กรรมการผู้จัดการ กลุ่มกานดากรุ๊ป 
นายอิสระ บุญยัง กรรมการผู้จัดการ กลุ่มกานดากรุ๊ป และนายกกิตติมศักดิ์ และที่ปรึกษาสมาคมธุรกิจบ้านจัดสรร เปิดเผย “ฐานเศรษฐกิจ” ว่าต้องยอม รับว่าสถาบันการเงินเข้มงวดการปล่อยสินเชื่อโครงการให้กับบริษัทพัฒนาที่ดินทั้งรายใหญ่-รายเล็กมาตั้งแต่หลังเกิดวิกฤติปี 2540 และนำเหตุการณ์ดังกล่าวเป็นบทเรียนสำคัญ โดยพิจารณาว่าเคยมีประวัติบริษัท ประวัติการชำระหนี้ สภาพคล่อง ยอดขาย ยอดปฏิเสธสินเชื่อลูกค้า การบริหารจัดการ และแบรนด์สินค้า หากเคยเป็นลูกค้าเก่า แบงก์จะพิจารณาสินเชื่อโครงการ และสินเชื่อรายย่อยต่อเนื่อง ส่วนบริษัทหน้าใหม่ หากไม่คุ้นเคย การเข้าถึงสถาบันการเงินก็จะยากขึ้น

แต่บริษัทรายใหญ่มักได้เปรียบเรื่องการออกหุ้นกู้ออกตั๋วบี/อีได้ นอกจากสภาพคล่องและแบรนด์ที่เป็นที่น่าเชื่อถือ แต่กลับกันบริษัทรายกลางจำนวนหนึ่ง ได้รับการสนับสนุนสินเชื่อโครงการอย่างต่อเนื่อง เพราะเป็นลูกค้าที่ดีต่อกันมานาน โดยแบงก์จะดูจากยอดขายที่ดีสมํ่าเสมอ การไม่สร้างประวัติค้างชำระ หรือขอแฮร์คัตหนี้ การดูแลลูกค้าทั้งก่อนและหลังการขายช่วงอุทกภัยและอื่นๆ ซึ่งกลุ่มบริษัทกานดาฯให้ความสำคัญมาโดยตลอด
สำหรับรายที่ประสบปัญหาเกี่ยวกับการเข้าถึงสินเชื่อทางออกจะต้องปรับตัวให้เร็วทุกสถานการณ์ พิจารณาความต้อง การของลูกค้าในทุกด้าน ไม่ว่า จะเป็นรูปแบบสินค้า ทำเล การบริหารจัดการให้เกิดความคล่องตัว การพัฒนาโครงการขนาดเล็กปิดการขายเร็ว แต่มีความชัดเจนสร้างความจดจำ รวมทั้งการก้าวให้ทันตามเทคโนโลยี ซึ่งดูได้จากค่ายพฤกษา ที่นำเทคโนโลยีการก่อสร้างรูปแบบพรีแฟบมาใช้ค่ายแรก จนทำให้ค่ายอื่นต้องปรับตาม

แต่ข้อได้เปรียบของบริษัทรายกลางรายเล็กที่มีความแข็งแรงคือ ไม่ต้องถูกภาระหนี้และตลาดการแข่งขันไล่ล่า ไม่ต้องรายงานในตลาดหลักทรัพย์ ไม่ต้องดูแลหุ้นของตนเอง สามารถพัฒนาโครงการได้ตามความเหมาะสม โดยไม่ต้องอวดเบ่งลงไปแข่งขันกับรายใหญ่ ในขณะที่ แบรนด์และทำเล ไม่ต่างกันหรืออาจเด่นกว่า แต่ราคาถูกกว่า ส่วนกลุ่มลูกค้าหากถูกแบงก์ปฏิเสธสินเชื่อก็สามารถหาแหล่งอื่นช่วยเหลือได้
นายธำรง ปัญญาสกุลวงศ์
ประธานกรรมการบริษัทนิรันดร์ กรุ๊ป
นายธำรง ปัญญาสกุลวงศ์ ประธานกรรมการบริษัทนิรันดร์ กรุ๊ป เปิดเผยว่า บริษัทรายกลางรายเล็กล้มหายตายจากเดิมที่มีกว่า 1,000 ราย ปัจจุบันเหลือ 200-300 รายทั่วประเทศ ซึ่งแต่ละค่ายยอมรับว่ายอดขายไม่ดี และยอมรับว่า ผู้บริโภคติดแบรนด์ และต้องการซื้อโครงการกับค่ายใหญ่ เพราะมั่นใจว่า เป็นของดีมีคุณภาพ ปล่อยขายง่ายมูลค่าสูง ที่ผ่านมาบริษัทเน้นพัฒนาคอนโดฯแต่ไม่สามารถแข่งขันกับค่ายใหญ่ได้จึงปรับแผน ไปลงทุนโรงแรม อพาร์ตเมนต์ และโครงการแนวราบ ทั้งนี้ แนวราบซึ่งเป็นบ้านเดี่ยว ทาวน์เฮาส์ จะโฟกัสโซนที่ชัดเจน คือโซนตะวันออกย่านวัดศรีสารีน้อย แม้จะเป็นบริษัทรายกลางแต่เป็นแบรนด์ที่ลูกค้าในย่านนั้นจดจำ เชื่อถือ ขายและปิดโครงการได้สบาย ขณะที่สถาบันการเงิน จะ ไว้วางใจ เพราะไม่เคยมีประวัติที่เป็นหนี้เสียหรือค้างชำระ แต่ บริษัท ไม่ต้องการความเสี่ยงจึง ติดต่อกู้สถาบันการเงินไว้ 3 แห่ง รวมทั้ง บริษัทประกันชีวิต และบริษัทเงินทุน แม้ดอกเบี้ยจะสูงแต่ก็มั่นใจที่มีแหล่งเงินกู้ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น บริษัทประกันหรือ บริษัทเงินทุนจะตรวจสอบเข้มเช่นเดียวกับแบงก์เพราะเกรงว่าจะเกิดเอ็นพีแอล หากยอดขายไม่ถึง 50% แบงก์ก็จะไม่สนับสนุนสินเชื่อ

 
อย่างไรก็ดีหากบริษัทโนเนม หรือเป็นรายเล็กจะลำบากท่ามกลางการแข่งขัน บางรายอยากเข้ามาในตลาดเพราะเห็นสถานการณ์อสังหาริมทรัพย์ฟื้นตัว แต่แบงก์จะมองตรงกันข้าม อีกทั้งปัจจุบันค่ายใหญ่ลงมาเล่นทุกเซ็กเมนต์ครอบคลุมตลาด 70-80%

นายพรนริศ ชวนไชยสิทธิ์ กรรมการผู้จัดการบริษัทในกลุ่มบ้านพรไพลิน และนายกสมาคมอสังหาริมทรัพย์ไทยกล่าวว่าการหาแหล่งเงินทุนและสินเชื่อรองรับบริษัทรายกลางรายเล็กพัฒนาโครงการและสินเชื่อรายย่อย ซึ่งจะตั้งขึ้นในรูปบริษัท โดยมีเงินทุนให้กู้ยืมมาจากกลุ่ม ผู้ถือหุ้นด้วยกันเอง เพื่อแก้ปัญหาสถาบันการเงินไม่ปล่อยสินเชื่อ

นางอาภา อรรถบูรณ์วงศ์ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ริชี่เพลซ 2002 จำกัด (มหาชน) (RICHY) กล่าวว่า หลังจากสถาบันการเงินปฏิเสธสินเชื่อ ทางออกได้มีบุคคลและนิติบุคคลเสนอตัวขอสนับสนุนสินเชื่อ สำหรับผู้ซื้อบ้าน ขณะเดียวกันบริษัทบางรายอาจใช้ทุนบริษัทแม่เข้ามาหมุนเวียนนอกจากการกู้แบงก์
   
ขอบคุณข่าวจาก : thansettakij.com
 
Visitors: 620,623