หน้าใหม่

 
แหล่งที่มา : www.positioningmag.com วันที่โพสต์ :  5 ก.พ. 2561
       
CPF อัพเลเวลธุรกิจอาหาร ส่งแบรนด์พรีเมียม Boston Market
เอาใจเด็กนอก ผู้บริโภคกระเป๋าหนัก 

“ตลาดในโลกนี้เป็นของซีพี” วลีเด็ดของ “เจ้าสัวธนินท์ เจียรวนนท์” ผู้ครองอาณาจักรเครือเจริญโภคภัณฑ์ หรือ ซีพี ดูจะยืนยงคงกระพันและเป็นไปตามที่เจ้าสัวพูดเสมอ เพราะถ้ามี “โอกาส” เมื่อไหร่ จะเห็นการขยับขยายธุรกิจและตลาดอาหารในเชิงรุกทันที

และถ้าพูดถึง “ซีพีเอฟ” เมื่อไหร่ ชื่อนี้การันตีการทำธุรกิจอาหารครบวงจร ครอบคลุมทั้งคนและสัตว์ ซึ่งทั้ง 2 ตลาด เรียกได้ว่าเป็น “เบอร์ 1” ในสมรภูมิที่ตัวเองอยู่อย่างแข็งแกร่งอีกด้วย

สำหรับการทำอาหารป้อนผู้บริโภค ซีพีเอฟ เน้นจับ “ตลาดแมส” เป็นหลัก ผ่านแบรนด์ในเครือ เช่น ห้าดาว, เชสเตอร์กริลล์, บีเคพี, บีเค แต่ล่าสุด ได้เห็นการ “ซีนเนอร์ยี” กับ Bellisiofoods บริษัทที่ซีพีเอฟไปซื้อกิจการเมื่อปี 2559 ด้วยเงินลงทุนกว่า 1 พันล้านเหรียญสหรัฐ หรือกว่า 3.7 หมื่นล้านบาท ซึ่งเบลลิซิโอ มี “จุดแข็ง” ด้านธุรกิจอาหารแช่แข็งรายใหญ่และเติบโตเร็วที่สุดในสหรัฐฯ มีแบรนด์ดังมากมาย เช่น Michelina's, EatingWell, So Right, Boston Market เป็นต้น

สเต็ปแรกของการซีนเนอร์ยี Bellisiofoods คือการนำผลิตภัณฑ์อาหารแช่แข็งแบรนด์แรก “Boston Market” มาเจาะตลาดเมืองไทย ประเดิม 4 เมนูพระเอก เช่น สเต๊กเนื้อวัวและหมูบดราดซอสเกรวี่และมักกะโรนีอบชีส พาสต้าเฟตตูชินี่อกไก่และบรอกโคลี ราดซอสอัลเฟรโด ขณะที่แบรนด์ Boston Market ถูกวาง Positioning บุกตลาดระดับ “พรีเมียม” ราคาขายสินค้าเริ่มที่ 149 ถึง 155 บาท มุ่งตอบโจทย์ผู้บริโภคกลุ่มเป้าหมายที่กระเป๋าหนัก คนไทยที่เคยอาศัยในสหรัฐฯ คนที่มีไลฟ์สไตล์ชื่นชอบอาหารอเมริกัน รวมถึงนักท่องเที่ยว คนทำงาน (Expat) ชาวอเมริกันที่อยู่ในไทย

การเลือกเจาะตลาดพรีเมียม นอกจากมองโอกาสของลูกค้ากระเป๋าหนักแล้ว จะเห็นว่าเทรนด์ผู้บริโภค 
“กินหรู”กำลังมาแรง ทำให้ซีพีเอฟต้องอัพเลเวลไปเล่นตลาดของแพงมากขึ้น จากที่แกร่งในสังเวียน Mass Market อยู่แล้ว

สำหรับช่องทางจำหน่าย ต้องเริ่มจากการอาศัย “ความแข็งแกร่ง” ของเครือ นำสินค้าไปวางบนเชลฟ์ผ่านร้านสะดวกซื้อเซเว่น อีเลฟเว่นที่มีร่วม “หมื่นสาขา” ทั่วประเทศ และร้านซีพีเฟรชมาร์ท 200 สาขานำร่องไปก่อน จากนั้นเพื่อให้เข้าถึงคนมีกำลังซื้อสูงอย่างแท้จริง จึงเตรียมขยายสู่ร้านอาหารและซูเปอร์มาร์เก็ตระดับบนๆ เช่น กูร์เมต์มาร์เก็ต สยามพารากอน, แม็กซ์แวลู และวิลล่า มาร์เก็ต ในเดือนมีนาคมเป็นต้นไป

ปีแรก ซีพีเอฟตั้งเป้ายอดขายจากแบรนด์ Boston Market เพียง 70 ล้านบาท แต่หากดูตลาดอาหารแช่แข็งจะพบว่า ภาพรวมมีมูลค่ามากถึง 16,000 ล้านบาท และ “ซีพีเอฟ” ครองความเป็นผู้นำอย่างเหนียวแน่น ด้วยส่วนแบ่งทางการตลาดมากกว่า 34% (ศูนย์อัจฉริยะเพื่ออุตสาหกรรมอาหาร 2558) ตามด้วยเอสแอนด์พี, สุรพลฟู้ดส์ และพรานทะเล มาร์เก็ตติ้ง   

จุดแข็งที่ซีพีเอฟ แกร่งกว่า “คู่แข่ง” นอกจากทุนหนา คือกลยุทธ์การ “สร้างแบรนด์” หากนึกถึงอาหารแน่นอนว่าแบรนด์แรกๆ หรือ Top of Mind ในใจที่ผู้บริโภคเลือก การออกสินค้าใหม่อย่างต่อเนื่อง สินค้ามีความหลากหลายตอบทุกไลฟ์สไตล์การบริโภค ตั้งแต่ของว่าง มื้อหลัก ขนมหวาน การโฆษณากระตุ้นการตัดสินใจซื้อถี่ยิบ และที่ปึ้ก! คือ “ช่องทางจำหน่าย” การมีหน้าร้านเป็นของตัวเองทั้งร้านสะดวกซื้อ ร้านอาหารสด แม็คโคร ทำให้ “เข้าถึง (Reach)” ผู้บริโภคได้มากกว่าคู่แข่งนั่นเอง

ภาพ “ซีนเนอร์ยี ในไทยนำสินค้าจากสหรัฐฯ มาจำหน่าย สลับกัน ซีพีเอฟซึ่งมีสินค้าในพอร์ตมากมาย ทั้งอาหารแช่แข็ง อาหารแปรรูป อาหารปรุงสุก จึงใช้ Bellisiofoods เป็นสปริงบอร์ดบ้าง ด้วยการจะนำเกี๊ยวกุ้ง บะหมี่ ไปผลิตและจำหน่ายผ่านช่องทางขายของ Bellisiofoods ที่มีอยู่ประมาณ 50,000 จุด ในตลาดสหรัฐฯ นั่นเอง  

สำหรับศักยภาพตลาดอาหารในสหรัฐฯ มีดังนี้

  • เป็นตลาดใหญ่มูลค่ากว่า 5.3 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ
  • ตลาดอาหารแช่แข็งและอาหารทานเล่นเติบโต 4-5%
  • ขนาดประชากรราว 325 ล้านคน คิดเป็นสัดส่วนราว 5% ของประชากรโลก
  • ตลาดมีกำลังซื้อมากที่สุดในโลก   
  • นโยบายการลดกำแพงภาษี เปิดโอกาสให้ต่างประเทศเข้าไปลงทุนมากขึ้น 

“ซีพีเอฟนำอาหารแช่แข็งแบรนด์ Boston Market มาเสริมพอร์ตโฟลิโอของบริษัทในกลุ่มสินค้าระดับพรีเมียมเพื่อเจาะตลาดในไทยและเอเชีย เช่น สิงคโปร์ ฮ่องกง เกาหลี ขณะเดียวกันจะบุกตลาดอาหารในสหรัฐฯ มากขึ้น ด้วยการนำสินค้าไทยไปจำหน่ายเสริมกับสินค้าของ Bellisiofoods” บุญชัย โอภาสเอี่ยมลิขิต ประธานธุรกิจ สหรัฐอเมริกา เครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี) กล่าว

ผลประกอบการของซีพีเอฟช่วง 9 เดือนของปี 2560 มีรายได้รวม 388,069.69 ล้านบาท กำไรสุทธิ 12,933.29 ล้านบาท ส่วนปี 2559 รายได้กว่า 470,170 ล้านบาท กำไรสุทธิกว่า 14,000 ล้านบาท

โดยโครงสร้างรายได้ธุรกิจอาหารอยู่ที่ 56,403 ล้านบาท แบ่งเป็นรายได้ในประเทศ 43,162 ล้านบาท และต่างประเทศ 13,241 ล้านบาท

จะเห็นว่าพอร์ตใหญ่หมื่นล้าน แต่แบรนด์ใหม่ Boston Market แค่มาชิมลางตลาดพรีเมียม อนาคตคงเห็นเกมรุกยิ่งกว่านี้แน่นอน.

   
ขอบคุณข่าวจาก : positioningmag.com
 
Visitors: 621,295