หน้าใหม่

 
แหล่งที่มา : www.transportjournalnews.com วันที่โพสต์ :  4 ก.พ. 2561
       

สรุปรถไฟความเร็วสูง กรุงเทพฯ-พิษณุโลก ใช้แบบเดียวกับชินคันเซ็น

 ผลการศึกษาความเหมาะสมโครงการรถไฟความเร็วสูง สายกรุงเทพฯ-เชียงใหม่ ระยะที่ 1 ช่วงกรุงเทพฯ-พิษณุโลก เสนอให้ใช้เทคโนโลยีระบบชินคันเซ็น ด้วยความเร็วสูงสุดในการเดินรถ 300 กิโลเมตร/ชั่วโมง ทำให้การเดินทางจากบางซื่อ-พิษณุโลก ใช้เวลาเพียง 1.58 ชั่วโมงเท่านั้น

กระทรวงคมนาคม ได้เปิดเผยรายละเอียดของโครงการรถไฟความเร็วสูงสายกรุงเทพฯ-เชียงใหม่ ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างกระทรวงคมนาคม และกระทรวงที่ดินโครงสร้างพื้นฐานการขนส่งและการท่องเที่ยวแห่งญี่ปุ่น (MLIT) ได้ร่วมลงนามในบันทึกความร่วมมือการพัฒนาระบบรางระหว่างไทย-ญี่ปุ่น (MOC) เมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม 2558 ณ กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น เพื่อพัฒนารถไฟความเร็วสูงเส้นทางกรุงเทพฯ-เชียงใหม่ โดยเริ่มดำเนินการศึกษาความเหมาะสมของโครงการฯ ระยะที่ 1 ช่วงกรุงเทพฯ-พิษณุโลก ตั้งแต่เดือนธันวาคม 2558 แล้วเสร็จเดือนพฤศจิกายน 2560 ปัจจุบันกระทรวงฯ อยู่ระหว่างการหารือร่วมกับฝ่ายญี่ปุ่น เพื่อพิจารณาหารูปแบบการดำเนินโครงการที่มีความเหมาะสมและการลงทุนเกิดความคุ้มค่าสูงสุด โดยกำหนดการประชุมหารือร่วมกันในวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2561

สำหรับผลการศึกษาความเหมาะสมโครงการรถไฟความเร็วสูง สายกรุงเทพฯ-เชียงใหม่ ระยะที่ 1 ช่วงกรุงเทพฯ-พิษณุโลก ขององค์การความร่วมมือระหว่างประเทศของญี่ปุ่น (JICA) สรุปได้ดังนี้

1.ข้อมูลโครงการฯ 

แนวเส้นทางจากสถานีบางซื่อ-พิษณุโลก ระยะทางรวม 380 กิโลเมตร เทคโนโลยีระบบชินคันเซ็น ความเร็วสูงสุดในการเดินรถ 300 กิโลเมตร/ชั่วโมง ขนาดราง 1.435 เมตร จำนวน 7 สถานี ประกอบด้วย บางซื่อ ดอนเมือง อยุธยา ลพบุรี นครสวรรค์ พิจิตร และพิษณุโลก การเดินทางจากบางซื่อ-พิษณุโลก ใช้เวลา 1.58 ชั่วโมง

    

2.วิเคราะห์การคาดการณ์ปริมาณผู้โดยสาร

-กรณีไม่มีการพัฒนาพื้นที่ตามแนวเส้นทาง ปี 2568 (ปีเปิดบริการ) มีปริมาณผู้โดยสารจำนวน 29,000 คน-เที่ยว/วัน และเพิ่มขึ้นเป็น 50,000 คน-เที่ยว/วัน ในปี 2598

-กรณีมีการพัฒนาพื้นที่ตามแนวเส้นทาง ปี 2568 (ปีเปิดบริการ) มีปริมาณผู้โดยสารจำนวน 29,000 คน-เที่ยว/วัน และเพิ่มขึ้นเป็น 73,200 คน-เที่ยว/วัน ในปี 2598

3.มูลค่าโครงการฯ 

เบื้องต้นตามผลการศึกษาของฝ่ายญี่ปุ่นพบว่า มีมูลค่าการลงทุนช่วงกรุงเทพฯ-พิษณุโลก จำนวน 276,226 ล้านบาท
4.วิเคราะห์ผลตอบแทนทางเศรษฐศาสตร์ 

ผลตอบแทนทางเศรษฐศาสตร์รวมผลประโยชน์จากการพัฒนาพื้นที่ตามแนวเส้นทาง เท่ากับ 14.7% ไม่รวมผลประโยชน์จากการพัฒนาพื้นที่ตามแนวเส้นทาง เท่ากับ 7.2% ซึ่งฝ่ายญี่ปุ่นได้ให้ข้อเสนอแนะว่า ฝ่ายไทยต้องจัดทำแผนระดับชาติและแผนพัฒนาภูมิภาคตามแนวเส้นทางรถไฟความเร็วสูง เพื่อประโยชน์สูงสุดทางด้านเศรษฐกิจและการลงทุน และแผนคมนาคมขนส่งที่มีความครอบคลุมให้การเชื่อมต่อการเดินทางมีประสิทธิภาพ รวมถึงพิจารณาแนวทางการพัฒนาเมืองภูมิภาคด้วยระบบรถไฟความเร็วสูง
    
  ทั้งนี้ประเทศไทยอยู่ระหว่างการพัฒนาและการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคม เนื่องจากไม่ได้ลงทุนโครงการใหญ่และสำคัญมานานหลายปี ทำให้ไม่สามารถช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศด้านการแข่งขันได้ ซึ่งรัฐบาลเห็นถึงความสำคัญของการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมเพื่ออนาคตของประเทศไทยในระยะยาว

      จึงดำเนินการลงทุนพัฒนาระบบรถไฟความเร็วสูงจำนวนหลายเส้นทาง รวมถึงเส้นทางสายเหนือด้วยระบบชินคันเซ็นด้วย เนื่องจากโครงการรถไฟความเร็วสูงต้องใช้เงินลงทุนจำนวนมาก กระทรวงคมนาคมจึงต้องพิจารณาความเหมาะสมของการปรับระบบเป็นรถไฟความเร็วปานกลางควบคู่กันไปด้วย ขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาข้อมูลต่างๆ อย่างรอบด้าน ก่อนสรุปเสนอเพื่อประกอบการพิจารณาในระดับนโยบาย ซึ่งยังไม่มีการตัดสินใจปรับเปลี่ยนเป็นระบบความเร็วปานกลางแต่อย่างใด

ขอขอบคุณที่มา : โฮมบายเออร์ไกด์ และ www.home.co.th (เรียบเรียงโดย : อรวรรณ  ภูขำ)
   
ขอบคุณข่าวจาก : transportjournalnews.com
 
Visitors: 621,152