หน้าใหม่

 
แหล่งที่มา : www.eeco.or.th
วันที่โพสต์ :  12 ม.ค. 2561
       
โครงการรถไฟความเร็วสูง เชื่อม 3 สนามบิน แบบไร้รอยต่อ 

โครงการรถไฟความเร็วสูง เชื่อมต่อ 3 สนามบิน แบบไร้รอยต่อ เป็นโครงการที่ใช้โครงสร้างและแนวเส้นทางการเดินรถเดิมของระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชน (Airport Rail Link) ที่เปิดให้บริการอยู่ในปัจจุบัน โดยจะก่อสร้างทางรถไฟขนาด 1.435 เมตร (Standard Gauge) ส่วนต่อขยาย 2 ช่วง

1. จากสถานีพญาไท ไปยังสนามบินดอนเมือง และ
2.จากสถานีลาดกระบัง ไปยังสนามบินอู่ตะเภา และจังหวัดระยอง พร้อมเชื่อมเข้าออกสนามบิน

โดยใช้เขตทางเดิมของการรถไฟฯ เป็นส่วนใหญ่ รวมระยะทาง 260 กม. มีผู้เดินรถรายเดียวกัน

การเดินรถในช่วงที่ผ่านกรุงเทพฯ ชั้นใน จะลดความเร็วลงมาที่ 160 กม./ชม. และจะวิ่งด้วยความเร็วสูงสุด 250 กม./ชม. ในเขตนอกเมือง ประกอบไปด้วยสถานีรถไฟความเร็วสูงจำนวน 10 สถานี ได้แก่ สถานีดอนเมือง สถานีบางซื่อ สถานีมักกะสัน สถานีสุวรรณภูมิ สถานีฉะเชิงเทรา สถานีชลบุรี สถานีศรีราชา สถานีพัทยา สถานีอู่ตะเภา และสถานีระยอง

โครงสร้างส่วนใหญ่เป็นทางยกระดับ โดยมีส่วนที่เป็นอุโมงค์ คือ ช่วงถนน พระรามที่ 6 ถึงถนนระนอง 1 ช่วงเข้าออกสนามบินสุวรรณภูมิ ช่วงผ่านเขาชีจรรย์ และช่วงเข้าออกสถานีอู่ตะเภา และก่อสร้างศูนย์ซ่อมบำรุงรถไฟความเร็วสูงบนพื้นที่ประมาณ 400 ไร่ บริเวณจังหวัดฉะเชิงเทรา ค่าโดยสารจากสนามบินดอนเมืองไปยังสนามบินอู่ตะเภา และจากสนามบินสุวรรณภูมิไปยังสนามบินอู่ตะเภา อยู่ที่ประมาณ 500 และ 300 บาทต่อเที่ยว ตามลำดับ

นอกจากนี้ ที่ดินบริเวณย่านมักกะสันของการรถไฟฯ อยู่ในแผนฟื้นฟูกิจการของการรถไฟฯ โดยจะเปิดให้เอกชนเช่าใช้พื้นที่ในช่วงระยะเวลาหนึ่งโดยจ่ายผลตอบแทนให้การรถไฟฯ ในอัตราที่เหมาะสมและ เป็นธรรมตามศักยภาพของพื้นที่ โดยกรรมสิทธิ์ที่ดินยังเป็นของการรถไฟฯ

    
แนวทางการพัฒนาโครงการรถไฟความเร็วสูง เชื่อม 3 สนามบิน

ที่ตั้งโครงการ

แนวเส้นทางโครงการผ่านพื้นที่ 5 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร จ.สมุทรปราการ จ.ฉะเชิงเทรา จ.ชลบุรี และ จ.ระยอง เริ่มต้นที่บริเวณท่าอากาศยานดอนเมือง วิ่งขนานไปตามเขตทางรถไฟปัจจุบันเข้าสู่สถานีกลางบางซื่อ ข้ามถนนประดิพัทธ์ และเชื่อมเข้ากับสถานีพญาไทของรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตเรลลิงก์ (ARL) ซึ่งจะวิ่งบนโครงสร้างปัจจุบันของโครงการ ARL วิ่งผ่านสถานีมักกะสัน และเข้าสู่สถานีสุวรรณภูมิ ในส่วนเส้นทางจากสถานีสุวรรณภูมิจะใช้แนวเส้นทางของโครงการรถไฟความเร็วสูงสายกรุงเทพ-ระยอง เป็นส่วนใหญ่

ซึ่งใช้แนวเส้นทางเรียบทางรถไฟสายตะวันออกในปัจจุบัน ยกเว้นบริเวณสถานีฉะเชิงเทราซึ่งจะต้องทำการเวนคืนที่ดินใหม่เพื่อให้รัศมีความโค้งของทางรถไฟสามารถทำความเร็วได้ โดยสถานีรถไฟความเร็วสูงฉะเชิงเทราจะตั้งอยู่ด้านข้างของถนนทางหลวงหมายเลข 304 ประมาณ 1.5 กิโลเมตรไปทางทิศเหนือของสถานีรถไฟเดิม หลังจากนั้นแนวเส้นทางจะเข้าบรรจบกับเขตทางรถไฟเดิม และผ่านนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด ซึ่งเป็นปลายทางของรถไฟเดิม จากนั้นจะวิ่งอยู่บนเกาะกลางของถนนทางหลวงหมายเลข 363 และ 36 และสิ้นสุดที่สถานีปลายทางระยองซึ่งตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกของจุดตัดของทางหลวงหมายเลข 36 กับ 3138

    
แนวเส้นทางโครงการรถไฟความเร็วสูง เชื่อม 3 สนามบิน โดยให้เอกชนเข้าร่วมทุน

สภาพแวดล้อมที่ตั้งโครงการปัจจุบัน

ที่ตั้งโครงการปัจจุบันมีรถไฟที่เปิดให้บริการแล้ว ได้แก่
- รถไฟฟ้าแอร์พอร์ตเรลลิงก์ (ช่วงพญาไทถึงสนามบินสุวรรณภูมิ)
- รถไฟทางสาม (ช่วงหัวหมากถึงฉะเชิงเทรา)
- รถไฟทางคู่ (ช่วงดอนเมืองถึงยมราช และช่วงฉะเชิงเทราถึงแหลมฉบัง) และ
- รถไฟทางเดี่ยว (ช่วงยมราชถึงหัวหมาก และช่วงแหลมฉบังถึงมาบตาพุด)

วัตถุประสงค์ของโครงการ

1.เพิ่มขีดความสามารถและประสิทธิภาพของระบบขนส่งทางรถไฟในกรุงเทพมหานครเชื่อมโยงกับระบบขนส่ง          อื่นๆ ให้เป็นโครงข่ายการขนส่งที่มีประสิทธิภาพสูงสุดในภาพรวม

2. ช่วยประหยัด ลดต้นทุนด้านพลังงานของประเทศและลดปัญหาทางด้านมลพิษทางอากาศ

3.ส่งเสริมการขนส่งด้วยระบบราง

4.ลดการสูญเสียทางเศรษฐกิจ เนื่องจากปัญหาการจราจรติดขัด

5.ทำให้การเชื่อมโยงโครงข่ายระบบรถไฟความเร็วสูงเชื่อมต่อ EEC

6.ส่งเสริมภาพลักษณ์ของประเทศในด้านคมนาคมขนส่งให้ดีขึ้น
 องค์ประกอบโครงการ

1.งานโยธา ประกอบไปด้วย ทางรถไฟยกระดับ ทางรถไฟใต้ดิน (อุโมงค์) สถานีรถไฟความเร็วสูง ศูนย์ซ่อมบำรุง

2.งานระบบไฟฟ้าและเครื่องกล ประกอบไปด้วย ระบบอาณัติสัญญาณ ระบบไฟฟ้ากำลังและไฟฟ้าเหนือศรีษะ
ระบบสื่อสาร ระบบจัดเก็บค่าโดยสารอัตโนมัติ ระบบประตูกั้นชานชาลา ขบวนรถไฟฟ้า

3.การพัฒนาที่ดิน ที่สถานีมักกะสัน สถานีฉะเชิงเทรา สถานีศรีราชา สถานีพัทยา และสถานีระยอง

4.การเดินรถและซ่อมบำรุงระบบ

มูลค่าการลงทุนโครงการให้เอกชนเข้าร่วมทุนฯ
    
ระยะเวลาในการดำเนินโครงการ (ก่อสร้างและให้บริการ) ให้เอกชนร่วมทุนฯ

ขึ้นอยู่กับรูปแบบร่วมลงทุนที่เหมาะสมสำหรับทั้งภาครัฐและเอกชน โดยปัจจุบันยังอยู่ในระหว่างการศึกษา คาดว่าจะมีระยะเวลาโครงการ 30 ปี ถึง 50 ปี

ผลตอบแทนโครงการ

โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินขาดความคุ้มค่าทางการเงินเช่นเดียวกับโครงการรถไฟฟ้า/รถไฟความเร็วสูงอื่น ๆ ทั่วโลกแต่โครงการมีคุ้มค่าทางเศรษฐกิจ จึงทำให้ภาครัฐสมควรที่จะสนับสนุนการลงทุนโครงการ สำหรับการพัฒนาที่ดินเชิงพาณิชย์มีความคุ้มค่าทางการเงินและเศรษฐกิจ โดยโครงการมีผลตอบแทนทางการเงินและเศรษฐกิจดังนี้
รูปแบบการให้เอกชนร่วมลงทุน

ปัจจุบันอยู่ในช่วงการศึกษาโดย รูปแบบร่วมลงทุนจะเป็นรูปแบบ PPP1 กล่าวคือ ภาครัฐจะดำเนินการเวนคืนที่ดิน และภาคเอกชนจะดำเนินการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน ระบบไฟฟ้าและเครื่องกล จัดหาขบวนรถ เดินรถและซ่อมบำรุง เนื่องจากโครงการไม่คุ้มค่าทางการเงินจึงทำให้ภาครัฐต้องให้เงินสนับสนุนในระยะก่อสร้างและ/หรือระยะดำเนินการ ในขณะที่รูปแบบการรับรายได้ของเอกชน จะแบ่งเป็น City Line ในรูปแบบ Net Cost และ Inter-City Line ในรูปแบบ Gross Cost เพื่อแบ่งรับความเสี่ยงระหว่างภาครัฐและเอกชน สำหรับการพัฒนาที่ดินเชิงพาณิชย์จะเป็นรูปแบบ PPP1 เช่นเดียวกัน ภาคเอกชนจะได้รับรายได้จากการพัฒนาที่ดินเชิงพาณิชย์ และภาครัฐจะได้รับค่าเช่าจากที่ดินมักกะสัน

แผนการปฎิบัติงาน (Timeline)

1. ประกาศเชิญชวนนักลงทุน  มกราคม 2561
2. ให้เอกชนเตรียมยื่นข้อเสนอ  กุมภาพันธ์ 2561
3. ประกาศผลผู้ได้รับการคัดเลือก  พฤษภาคม 2561
4. ลงนามในสัญญา  สิงหาคม 2561
5. เปิดให้บริการเต็มรูปแบบ พ.ศ. 2566

       
ขอบคุณข่าวจาก : eeco.or.th
 
Visitors: 629,201