หน้าใหม่

 
แหล่งที่มา : www.naewna.com
วันที่โพสต์ :  6 ม.ค. 2561
       
จับตาการประชุมสุดยอดกลุ่มลุ่มแม่น้ำโขง !
 

ในสัปดาห์หน้าจะมีการประชุมสำคัญที่จะมีผลใหญ่หลวงต่อประเทศไทยและคนไทยทั้งประเทศ นั่นคือการประชุมสุดยอดกลุ่มประเทศลุ่มแม่น้ำโขง 6 ประเทศ ประกอบด้วย จีน พม่า ไทย ลาว เวียดนาม และกัมพูชา โดยเป็นการประชุมระดับผู้นำซึ่งจะจัดขึ้นที่กรุงพนมเปญ โดยกัมพูชาเป็นเจ้าภาพและเป็นประธานการประชุมครั้งนี้

 

หมายความว่า จะมีผู้นำรัฐบาลทั้ง 6 ประเทศเข้าร่วมประชุม ประเทศเจ้าภาพคือนายกรัฐมนตรีฮุนเซ็นจะเป็นประธานการประชุม

ในการนี้ย่อมมีนายกรัฐมนตรีหลี่ เค่อ เสียง ของจีนและพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี แห่งราชอาณาจักรไทย เข้าร่วมประชุมด้วย วาระสำคัญที่จะพูดจากันครั้งนี้เรื่องหนึ่งก็คือปฏิญญาซันย่า ซึ่งเป็นเรื่องเกี่ยวกับการร่วมมือกันในการพัฒนาลุ่มแม่น้ำโขงและแม่น้ำล้านช้าง

ในการประชุมสุดยอดผู้นำกลุ่มประเทศลุ่มแม่น้ำโขง-ล้านช้าง ที่เมืองซันย่า มณฑลไหหลำ ประเทศจีน ครั้งที่ผ่านมาที่ประชุมได้ตกลงผ่านมติให้จัดทำปฏิญญาซันย่าขึ้น สรุปเนื้อใหญ่ใจความก็คือประเทศภาคีสมาชิกจะร่วมกันพัฒนาการเดินเรือในลุ่มแม่น้ำโขง เพื่อผลประโยชน์ร่วมกันของทั้ง6 ประเทศ และประชาชาติทั้ง 6 ประเทศ

พูดให้เข้าใจง่ายๆ ก็คือจะเปลี่ยนสภาพของลุ่มแม่น้ำโขงจากเดิมซึ่งเคยเป็นพื้นที่ของการค้ายาเสพติด อาชญากรรมข้ามชาติ และการค้ามนุษย์ ตลอดจนการค้าของเถื่อนข้ามแดนให้เป็นแม่น้ำแห่งสันติภาพและการพัฒนาที่มีความปลอดภัยและมีความเจริญรุ่งเรือง

ประเทศต้นน้ำคือจีน พม่า และลาว จะร่วมกันปล่อยน้ำจากแหล่งกักเก็บของตนเพื่อให้แม่น้ำโขงสามารถใช้ในการเดินเรือได้ตลอดทั้งปี ไม่ใช่ใช้เดินเรือได้เฉพาะบางฤดูกาลไม่กี่เดือน

และจะร่วมมือกันขุดลอกเกาะแก่งในแม่น้ำโขงที่เป็นอุปสรรคต่อการเดินเรือ โดยจีนจะรับภาระเป็นผู้ทำการขุดลอกเกาะแก่งเหล่านั้นด้วยค่าใช้จ่ายของประเทศจีนเอง

ต้องเข้าใจว่าเกาะแก่งที่มีจำนวนมากและเป็นอุปสรรคต่อการเดินเรือ ส่วนใหญ่อยู่ในแม่น้ำโขงระหว่างลาวและพม่า ซึ่งจำนวนมากอยู่ห่างขึ้นไปจากเชียงแสนของไทยราว 3 กิโลเมตร เป็นดินแดนของพม่าและลาว บรรดาเกาะแก่งในพื้นที่นั้นก็เป็นกรรมสิทธิ์และอธิปไตยของพม่าและลาว

สำหรับเกาะแก่งในแม่น้ำโขงส่วนที่กั้นไทยกับลาวนั้น เกือบทั้งหมดก็เป็นกรรมสิทธิ์และอธิปไตยของลาว ทั้งนี้ ตามสนธิสัญญาสยาม-ฝรั่งเศสที่จัดทำขึ้นยุคล่าอาณานิคม คงมีเพียงแก่งเล็กๆ 8 แก่ง ที่ใกล้กับฝั่งไทยเท่านั้น ที่เป็นกรรมสิทธิ์ของประเทศไทยและไม่ได้เป็นนัยสำคัญต่อการขุดลอก

และต้องเข้าใจด้วยว่าตลอดเวลากว่าร้อยปีมานี้ประเทศลาวไม่ยินยอมให้ชาติใดขุดลอกเกาะแก่ง ไม่ว่าในพื้นที่เกี่ยวข้องกับพม่าหรือไทย เพราะลาวรู้ดีว่าเส้นแบ่งเขตแดนลาวกับประเทศเพื่อนบ้านในแม่น้ำโขงนั้น ถือเอาเกาะแก่งตามที่แต่ละประเทศมีกรรมสิทธิ์ จึงเป็นผลให้แดนแห่งอธิปไตยของลาวเข้ามาใกล้ริมแม่น้ำโขงฝั่งไทย ไกลออกมาจากกลางแม่น้ำโขงตามสนธิสัญญา

แต่ลาวทราบดีว่าที่มาของข้อเสนอการพัฒนาลุ่มแม่น้ำโขงให้เป็นแม่น้ำแห่งสันติภาพและความเจริญรุ่งเรืองนั้นมาจากไหน และเป็นบุคคลสำคัญระดับสูงสุดขนาดไหน ซึ่งลาวมีความเกรงอกเกรงใจและให้เกียรติอย่างสูงสุด ดังนั้นจึงยินยอมและร่วมมือในการขุดลอกแม่น้ำโขงตามข้อตกลงนั้น

เหตุนี้เมื่อใดก็ตามที่การขุดลอกแล้วเสร็จ ก็จะมีกิจการเดินเรือท่องเที่ยวขนาดยักษ์ในเส้นทางที่สวยงามหลากหลายวัฒนธรรมในพื้นที่ถึง 6 ประเทศ ซึ่งเป็นเส้นทางเดินเรือ
ท่องเที่ยวที่ยิ่งใหญ่และสวยงามที่สุดแห่งหนึ่งของโลกที่จะอำนวยประโยชน์และรายได้ให้แก่ประเทศสองฝั่งแม่น้ำโขง ซึ่งแน่นอนว่าประเทศไทยนี่แหละจะได้รับประโยชน์สูงสุด

และเมื่อใดก็ตามที่การขุดลอกแล้วเสร็จก็มีการเดินเรือขนส่งสินค้าสำหรับ 6 ประเทศ โดยเป็นเรือขนาดใหญ่ระวางขับน้ำ 500 ตัน และมีท่าเรือประมาณ 16 ท่าตลอดริมฝั่งทั้ง 6 ประเทศ จะทำให้เกิดการค้าขายข้ามแดนทางเรือผ่านแม่น้ำโขงครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ โดยมีตลาดขนาดใหญ่ที่มีประชากรถึง 2,200 ล้านคน รองรับการผลิตและสินค้าที่ประเทศไทยได้เปรียบที่สุดเพราะตั้งอยู่กลางน้ำ

แต่ทว่าประเทศไทยมีเวรกรรมหนักหนาสาหัสเพราะขณะที่ภาคีสมาชิกทุกชาติเขาร่วมมือกันอย่างคึกคักเพื่อดำเนินการตามปฏิญญาซันย่าให้เป็นมรรคผล แต่กลับมีกลุ่มคน
ที่เชื่อมโยงกับผลประโยชน์ต่างชาติจำนวนเพียงไม่กี่คนเคลื่อนไหวคัดค้านการเข้าร่วมพัฒนาลุ่มแม่น้ำโขง และร้องเรียนในระดับสากลอันเป็นการเหลือวิสัยของชาวบ้านในพื้นที่ มีข้ออ้างว่ากระทบต่อระบบนิเวศ

เป็นเหตุให้การประชุมระดับรัฐมนตรีที่ยูนนานของภาคีสมาชิกมีการปรารภขึ้นว่าประเทศไทยอาจมีปัญหาในการเข้าร่วมเพราะมีการคัดค้านของภาคประชาชน

ในฐานะที่ผู้เขียนก็เป็นประชาชนคนหนึ่ง ขอประกาศว่าประชาชนคนนี้สนับสนุนการพัฒนาลุ่มแม่น้ำโขงตามข้อตกลงของภาคีสมาชิกทุกประเทศ

และเนื่องจากปฏิญญาซันย่ากระทำโดยผู้นำของภาคีสมาชิก ดังนั้นเมื่อชาติใดที่ไม่ร่วมมือหรือถอนตัวออก ก็ต้องไปว่ากล่าวกันในที่ประชุมสุดยอดกลุ่มประเทศลุ่มแม่น้ำโขง ซึ่งจะมีการประชุมที่กัมพูชาในวันที่ 10-11 มกราคมนี้

จึงต้องจับตาดูว่าประเทศไทยเราจะเบี้ยวข้อตกลงให้ระบือลือลั่นสนั่นโลก โดยข้ออ้างที่ไม่ตั้งอยู่บนผลประโยชน์แห่งชาติ และจะสร้างความเสียหายย่อยยับแก่ชาติบ้านเมืองไปอีกยาวนานหรือไม่? ซึ่งพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี จะเป็นผู้ชี้ชะตากรรมนี้ให้ประเทศชาติของเรา

   
ขอบคุณข่าวจาก : naewna.com
 
Visitors: 620,509