แหล่งที่มา : https://mgronline.com/business/detail/ วันที่โพสต์ : 30 ต.ค.2560 
    EEC สั่งศึกษาขนส่งสินค้าแบบไร้รอยต่อ ไอซีดีลาดกระบัง-ทลฉ.
 
    ร.ฟ.ท.เบรกประมูลไอซีดีลาดกระบัง หลัง EEC มีนโยบายปรับรูปแบบการให้บริการแบบไร้รอยต่อ เชื่อมการขนส่งสินค้าจากไอซีดี ขึ้นรถไฟจนลงเรือเพื่อลดต้นทุนลอจิสติกส์ “พิชิต” เผย สนข.กำลังศึกษารายละเอียด คาดต้องลงทุนระบบซอฟต์แวร์ และหาผู้บริหารกลางที่รับดูแลบริการจุดเดียวเบ็ดเสร็จ

นายพิชิต อัคราทิตย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า คณะกรรมการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC มีนโยบายเกี่ยวกับสถานีบรรจุและแยกสินค้ากล่อง (ไอซีดี) ที่ลาดกระบัง โดยต้องการให้มีการบริหารและมีระบบให้บริการที่เชื่อมโยงกันแบบไร้รอยต่อ ตั้งแต่การขนส่งสินค้าจากสถานีไอซีดี ลาดกระบัง ขึ้นรถไฟไปยังท่าเรือแหลมฉบัง (ทลฉ.) โดยควรจะมีผู้บริหารจัดการที่สามารถรวมศูนย์การบริการทุกระบบขนส่งที่จุดเดียวเพื่อลดต้นทุนในระบบลอจิสติกส์ 

ทั้งนี้ ในการบริการที่จะสามารถเชื่อมโยงได้แบบไร้รอยต่อนั้นจะต้องมีการดำเนินงานใน 2 ส่วน คือ
    ส่วนที่ 1 ระบบซอฟต์แวร์ ซึ่งเบื้องต้นทาง EEC จะเป็นผู้รับผิดชอบเอง โดยสามารถตั้งงบประมาณขึ้นมาดำเนินการได้
    ส่วนที่ 2 คือหาผู้บริหาร คณะกรรมการ EEC จึงได้มอบหมายให้สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) พิจารณารายละเอียด คาดว่าจะได้ข้อสรุปเร็วๆ นี้ 

“ในส่วนของระบบซอฟต์แวรที่จะสามารถเชื่อมโยงการให้บริการนั้น EEC น่าจะดูแลเอง แต่จะต้องหาผู้ให้บริการหรือผู้บริหาร ซึ่งการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) เป็นตัวเลือกหนึ่งที่อาจจะให้เป็นผู้บริหาร หรือเปิดประมูลหาผู้เข้ามา เป้าหมายคือต้องการให้ผู้ใช้บริการขนส่งสินค้าสามารถติดต่อรับบริการที่จุดเดียว โดยได้รับบริการตั้งแต่ต้นทางไปถึงปลายทาง โดยมีผู้บริหารจัดให้เป็นรูปแบบที่เติมเต็มและเชื่อมโยงมากกว่าเดิม”

สำหรับโครงการสัมปทานเป็นผู้ประกอบการสถานีบรรจุและแยกสินค้ากล่อง (ไอซีดี) ที่ลาดกระบังของ ร.ฟ.ท.นั้น ก่อนหน้านี้ ร.ฟ.ท.ได้เปิดประมูลคัดเลือกสรรหาเอกชนเข้ารับสัมปทานตามมาตรา 35 แห่งพระราชบัญญัติการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2556 (พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ 56) ซึ่งได้รวบสัมปทานให้เหลือผู้บริหารเพียงรายเดียว จากเดิมมี 6 สัญญา ทำให้มีข้อร้องเรียนเกี่ยวกับการผูกขาดและล็อกสเปก และได้มีการยกเลิกประมูลไปเมื่อต้นปี 2560 นั้น 

นายอานนท์ เหลืองบริบูรณ์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงคมนาคม ในฐานะรักษาการผู้ว่าการ ร.ฟ.ท.กล่าวว่า ปัจจุบัน ร.ฟ.ท.ยังไม่ได้บอกเลิกสัญญากับผู้ประกอบการไอซีดีลาดกระบังทั้ง 6 รายเดิม เนื่องจากการประมูลเพื่อหาผู้ประกอบการรายใหม่ยังไม่เสร็จสิ้น ดังนั้น ผู้ประกอบการเดิมทั้ง 6 รายยังคงให้บริการตามสัญญาภายใต้เงื่อนไขเดิมจนกว่าจะมีการเปลี่ยนแปลง 

สำหรับไอซีดี (ลาดกระบัง) มีพื้นที่ 647 ไร่ มีผู้ประกอบการตามสัญญาสัมปทานเดิม 6 ราย คือ 1. บริษัท สยามชอร์ไซด์ เซอร์วิส จำกัด (SSS) 2. บริษัท อีสเทิร์นซี แหลมฉบัง เทอร์มินัล จำกัด (ESCO) 3. บริษัท เอเวอร์กรีนคอนเทนเนอร์ เทอร์มินัล (ประเทศไทย) จำกัด (ECTT) 4. บริษัท ทิฟฟ่า ไอซีดี จำกัด (TIFFA) 5. บริษัท ไทยฮันจิน โลจิสติกส์ จำกัด (THL) และ 6. บริษัท เอ็น.วาย.เค. ดิสทริบิวชั่น เซอร์วิส (ประเทศไทย) จำกัด (NICD)
       
ขอบคุณข่าวจาก : mgronline.com  
Visitors: 618,404