วัฏจักรชีวิตผลิตภัณฑ์

วัฏจักรชีวิตผลิตภัณฑ์ (Life Cycle Assessment) คืออะไร

Credit : www.environnet.in.th

วัฏจักรชีวิตผลิตภัณฑ์…หากเข้าใจ..เราจะใช้ทรัพยากรอย่างยั่งยืน

การประเมินวัฏจักรชีวิต (Life Cycle Assessment: LCA) คือ กระบวนการวิเคราะห์และประเมินค่าผลกระทบของผลิตภัณฑ์ที่มีต่อสิ่งแวดล้อมตลอดช่วงชีวิตของผลิตภัณฑ์ ตั้งแต่การสกัดหรือการได้มาซึ่งวัตถุดิบ กระบวนการผลิต การขนส่งและการแจกจ่าย การใช้งานผลิตภัณฑ์ การใช้ใหม่ / แปรรูป และการจัดการเศษซากของผลิตภัณฑ์หลังการใช้งาน

ซึ่งอาจกล่าวได้ว่า พิจารณาผลิตภัณฑ์ตั้งแต่เกิดจนตาย (Cradle to Grave) โดยมีการระบุถึงปริมาณพลังงานและวัตถุดิบที่ใช้ รวมถึงของเสียที่ปล่อยออกสู่สิ่งแวดล้อมและการประเมินโอกาสที่จะส่งผลกระทบ ต่อระบบนิเวศและสุขอนามัยของชุมชน เพื่อที่จะหาวิธีการในการปรับปรุงผลิตภัณฑ์ให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด

   
รูปด้านบนได้แสดงถึงวงจรชีวิตผลิตภัณฑ์ที่แสดงถึงขั้นตอนต่างๆ กว่าจะมาเป็นผลิตภัณฑ์  เราต้องสูญเสียทรัพยากร พลังงาน และน้ำในกระบวนการผลิตและการขนส่งอย่างมากมาย  นอกจากนั้น ยังเกิดก๊าซเรือนกระจกจากการใช้พลังงาน  มลพิษทางอากาศ น้ำเสีย และขยะทั้งในกระบวนการผลิตและการใช้งาน  ซึ่งล้วนเป็นปัญหาทางสิ่งแวดล้อมทั้งสิ้น   หากเราลองมาเปรียบเทียบการผลิตกระดาษ 3 แบบ คือ   
   

แบบที่ 1: กระดาษที่ผลิตขึ้นมาใหม่ ในกระบวนการผลิตกระดาษ 1 ตันต้องใช้ต้นไม้มากถึง 17 ต้น ใช้กระแสไฟฟ้ามากถึง 4,100 กิโลวัตต์ต่อชั่วโมง ใช้น้ำถึง 31,500 ลิตร และปล่อยคลอรีนที่ใช้ในการฟอกกระดาษเป็นของเสียกว่า 7 กิโลกรัม นั่นหมายความว่าในการสนองตอบความต้องการใช้กระดาษของคนไทยซึ่งต้องการใช้กระดาษเฉลี่ยให้เพียงพอ เพราะคนไทยใช้ขยะเฉลี่ยคนละ 50 กิโลกรัม ต่อปี หรือคิดเป็นทั่วประเทศต้องการใช้กระดาษมากกว่า 3.25 ล้านตันต่อปี เราต้องตัดต้นไม้ถึงปีละประมาณ 55 ล้านต้น ซึ่งนอกจากเราจะสูญเสียต้นไม่แล้ว เรายังขาดต้นไม้ 1 ต้นดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ได้ปีละ 15 กิโลกรัม ซึ่งจะช่วยลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากการผลิตไฟฟ้าได้ถึง 21 กิโลวัตต์ ชั่วโมง (สำหรับการผลิตกระแสไฟฟ้า 1 กิโลวัตต์ ชั่วโมง จะปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ 0.71 กิโลกรัม)

 

www.environnet.in.th

แบบที่ 2 : การใช้กระดาษ 2 หน้า (Reuse) เราไม่ต้องสูญเสียทั้งต้นไม้ พลังงาน น้ำ และการปล่อยของเสียในกระบวนการผลิตเลย หากคนไทยทุกคนใช้กระดาษอย่างประหยัด โดยการใช้กระดาษทั้ง 2หน้า จะช่วยรักษาชีวิตต้นไม้ได้ถึง 1.3ล้านต้น

แบบที่ 3 : นำกระดาษใช้แล้วกลับมารีไซเคิล (Recycle)  กระดาษเก่า 1 ตัน สามารถทดแทนการตัดต้นไม้เพื่อมาทำเป็นกระดาษได้ถึง 15 ต้น  หากนำกระดาษใช้แล้วไปใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตกระดาษรีไซเคิลแทนการทิ้งไปเป็นขยะจะช่วยลดการตัดต้นไม้ได้อย่างมาก  รวมถึงกระบวนการรีไซเคิลใช้พลังงานและน้ำน้อยกว่าการผลิตกระดาษใหม่อย่างมากอีกด้วย  

 

การประยุกต์ใช้ LCA

LCA สามารถนำไปประยุกต์ใช้กับกิจกรรมหรืองานวิจัยได้อย่างหลากหลาย โดยกลุ่มของผู้นำไปใช้งานอาจจำแนกได้เป็น 4 กลุ่ม โดยมีรูปแบบของการนำไปใช้งานอยู่ในตาราง

 

ภาคอุตสาหกรรม / บริษัทเอกชน
  • ใช้สื่อสารให้ทราบถึงข้อมูลด้านสิ่งแวดล้อมของผลิตภัณฑ์
  • ออกแบบและปรับปรุงกระบวนการผลิตและผลิตภัณฑ์
  • ใช้ต่อรองกับผู้จัดหาวัตถุดิบ (Supplier) ให้ผลิตผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น
  • พัฒนากลยุทธ์ด้านการตลาด กลยุทธ์ด้านธุรกิจ และแผนการลงทุน
  • พัฒนากลยุทธ์ด้านนโยบาย
  • พัฒนานโยบายของผลิตภัณฑ์
  • การจัดทำฉลากสิ่งแวดล้อมประเภทที่ 3
ภาครัฐ
  • เป็นเกณฑ์ในการจัดทำข้อกำหนดของฉลากสิ่งแวดล้อม
  • การพัฒนาและจัดทำฉลากสิ่งแวดล้อมประเภทที่ 3
  • พัฒนาระบบการฝาก-การขอคืน (Deposit-refund systems)
  • ใช้ประกอบการพิจารณาเพื่อสนับสนุนเงินทุน หรือการจัดทำโครงสร้างภาษีอากร
  • พัฒนานโยบายทั่วไปของภาครัฐ
องค์กรเอกชน (NGOs) 
  • เป็นข้อมูลเพื่อเผยแพร่ต่อผู้บริโภค
  • เป็นข้อมูลสนับสนุนสำหรับการประชุม/สัมมนาในเวทีสาธารณะ
  • ใช้ข้อมูลเพื่อกดดันภาคเอกชนและรัฐบาลในการพัฒนาสิ่งแวดล้อม
ผู้บริโภค
  • ใช้ข้อมูลเพื่อประกอบการการตัดสินใจเลือกซื้อผลิตภัณฑ์

 

ที่มาของข้อมูล : ปรับปรุงจาก

1.บทความประเด็นท้าทายข้อเสนอเชิงนโยบายและการเจรจาของไทยเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลก, สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย, 2553

2.รายงานแห่งชาติครั้งที่สอง, สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

3.ประมวลสารสนเทศพร้อมใช้วิกฤตการณ์การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ, สำนักหอสมุดและศูนย์สารสนเทศวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี, กรมวิทยาศาสตร์บริการ, กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี, พ.ศ. 2553

4.ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค), สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.), กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี http://www.mtec.or.th

5.มูลนิธิโลกสีเขียว

6.http://www.uk-energy-saving.com/greenhouse_gas_emissions.html

7.http://www.energyroyd.org.uk

Visitors: 621,129